Travel the World – ดื่มศิลปะ เคล้าวัฒนธรรม แกล้มประวัติศาสตร์

05/11/2009

ย่างกุ้ง – ขลังเงาอาณานิคม

“เมืองร่างกุ้งมีทางรถไฟสายสาขาทำเลียบริมน้ำมารับส่งสินค้า พ้นทางรถไฟสายริมน้ำเข้าไปถึงตัวเมืองสร้างตึกรามตามแผนผัง…..ชาวเมืองดูจะเป็นแขกอินเดียไปเสียทั้งนั้น….กรรมกรทำการต่าง ๆ แม้จนคนแจวเรือและขับรถจ้าง คนรับใช้ตลอดจนคนขายของ”

ดังความตอนหนึ่งในพระนิพนธ์  “เที่ยวเมืองพม่า” ของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรง เมื่อครั้งเสด็จไปเยือน “ร่างกุ้ง” (Rangoon) ราวเดือนมกราคม พ.ศ. 2478    ด้วยเรือโดยสารของบริษัทบริติชอินเดีย  ขณะที่ประเทศเพื่อนบ้านของไทยยังเป็นอาณานิคมของอังกฤษ ในชื่อประเทศ “พม่า” (ฺBurma)   และ “ร่างกุ้ง” มีเจ้าเมืองเป็นฝรั่ง ชื่อว่าเซอร์ ฮิวจ์ สตีเฟนสัน (Sir Hugh Stephenson)

74 ปีต่อมา   ผู้เขียนได้ไปเยือนเมืองเดียวกันนี้ภายใต้ชื่อ “ย่างกุ้ง” (Yangon) ในยุคที่ “พม่า” ได้รับอิสระภาพมาแล้วกว่า 60 ปี เปลี่ยนชื่อเป็นว่า “เมียนมาร์” (Myanmar) ปกครองโดยรัฐบาลทหาร  พบว่าสภาพเมืองทั่วไปดูไม่ต่างจากที่สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงบรรยายไว้ในครั้งนั้น

เมืองที่ใหญ่ที่สุดในประเทศเมียนมาร์แห่งนี้ ยังคงเบียดอัดพลุกพล่านไปด้วยชาวพม่าผิวสีเข้ม เค้าหน้ากระเดียดไปทางอินเดีย  ผู้ชายใส่เสื้อสีอ่อนแขนยาวนุ่งโสร่ง ผู้หญิงนุ่งผ้าซิ่น ใส่รองเท้าแตะ บ้วนหมากลงบนพื้นเป็นระยะ ๆ  และต้อง “ปั่นไฟ” ใช้ เองเพื่อหล่อเลี้ยงธุรกิจ

ไม่แปลกนักหากพบเห็นคนกว่าครึ่งในย่างกุ้งเป็นชาวอินเดีย   เพราะในช่วง ค.ศ. 1886 –1948 ที่ถูกอังกฤษปกครองเบ็ดเสร็จ   นามแผ่นดินถูกเปลี่ยนเป็น “พม่า”  เมืองหลวงถูกย้ายจากมัณฑเลย์มายัง “ร่างกุ้ง” และ อังกฤษเห็นพม่าเป็นเพียงจังหวัดหนึ่งของอินเดียเท่านั้น  พร้อมกับนำชาวอินเดียเข้ามาทำงานจำนวนมาก จนผสมกลมกลืนกับคนพม่าไป

ชาวพม่าเชื้อสายอินเดียอาจจะถูกขับไล่ออกนอกประเทศไปบ้างหลังจากที่พม่าได้อิสรภาพคืนเมื่อ  4 มกราคม 1948 (พ.ศ. 2491)   แต่โดยทั่วไป รัฐบาลทหารก็ไม่ได้เปลี่ยนแปลงบ้านเมืองเชิงวัตถุมากมายนัก นอกจากพยายามชำระจิตใจด้วยการเปลี่ยนชื่อประเทศและเมืองเป็น “เมียนมาร์”  และ”ย่างกุ้ง”

ย่างกุ้งยังคงความเป็นเมืองท่า และศูนย์กลางธุรกิจ ริมแม่น้ำอิรวดี  มีรางรถไฟตามแนวชายฝั่งเพื่อลำเลียงสินค้าและน้ำมันเช่นอดีต  เพียงแต่เปลี่ยนผู้รับผลประโยชน์จาก “คนนอก” มาเป็น “คนใน” เท่านั้น ทำให้กิจกรรมบริเวณนี้รายรอบไปด้วย “ธุรกิจของรัฐบาล” วุ่นวายไปด้วยผู้คนและข้าวของสินค้ารอการขนถ่าย ดังนั้นนักท่องเที่ยวที่คาดหวังได้เห็นภูมิทัศน์ริมแม่น้ำเปิดโล่งโปร่งสบายแนวโรแมนติคก็ควรทำใจไว้แต่เนิ่น ๆ

แต่ก็ทดแทนได้ด้วยการเพลิดเพลินชมอาคารสไตล์โคโลเนี่ยลด้านตะวันออกของเมือง    โดยยึดวงเวียนเจดีย์สุเล หรือ “สุเลพะยา” (Sule Paya) ทรงระฆังคว่ำแปดเหลี่ยมเป็นจุดศูนย์กลาง

ชื่อถนนต่าง ๆ ของย่างกุ้งค่อนข้างชวนสับสนหัวฟู เพราะนอกจากป้ายมีขนาดเล็กและหายาก  ยังมีทั้งชื่อในแบบอังกฤษและท้องถิ่น  โดยอย่างแรกตั้งขึ้นในสมัยอาณานิคม หลังจากอังกฤษจัดผังเมืองแนวตารางตามธรรมเนียม ยังตั้งชื่อตามความคุ้นเคยจากแผ่นดินแม่ของตนด้วย  เช่น ถนนสแตรนด์ริมแม่น้ำอิระวดี ก็ใช้ชื่อเดียวกับถนนเลียบแม่น้ำเทมส์ในกรุงลอนดอน เป็นต้น พอพม่าได้รับอิสรภาพคืน หลาย  ๆ ชื่อก็ถูกเปลี่ยนไปเป็นชื่อท้องถิ่นตามกระแสชาตินิยม

บนถนนสุเลพะยามุ่งสู่แม่น้ำอิรวดี  ช่วงแยกตัดกับถนนเมอร์ชานต์ (Merchant) หรือเส้นทางธุรกิจสะพรั่งในยุคนั้น  จะเห็นตึกสีขาว รูปทรงเหลี่ยมดูน่าเชื่อถือ จัดเป็นผลงานในช่วงปลายในยุคอังกฤษเถลิงอำนาจก็ย่อมได้ เพราะสร้างเมื่อค.ศ. 1935 เพื่อเป็นธนาคารกลางอินเดีย (Reserve Bank of India)มีหน้าที่จัดระบบการเงินต่าง ๆ ของพม่าที่ในครั้งนั้นเป็นเพียงเขตปกครองหนึ่งของอินเดีย  ครั้นตกถึงมือญี่ปุ่น ในช่วงสงครามมหาเอเชียบูรพา ญี่ปุ่นก็ใช้ธนาคารแห่งนี้จัดการธุรกรรมการเงินในพม่าต่อไป ซ้ำยังพิมพ์ธนบัตรของตัวเองที่นี่ด้วย  และแล้วญี่ปุ่นก็เผาธนาคารนี้ในปี 1945  หลังจากฝ่ายพันธมิตรเข้ากวาดล้าง ปัจจุบันเป็นที่ทำการของธนาคารพม่า(Central Bank of Burma)

มุ่งหน้าสู่ถนนสแตรนด์ (Strand) เลียบแม่น้ำอิระวดี  จะเห็นตึกขาวโพลนทรงหอคอยตั้งตระหง่านตรงมุมถนนปันโซดาน  (Pansodan ชื่อเก่าเรียกว่าแฟร   – Phayre)  เป็นที่ตั้งของกรมเจ้าท่า (Port Authority )  ใกล้ ๆ กันนั้นจะมีด่านศุลกากร (Custom House) เป็นตึกสีน้ำตาลอิฐแกมขาวสอดหอคอยสีขาวไว้ตรงกลาง ออกแบบโดยจอห์น เบก (John Begg) สถาปนิกชื่อก้องชาวสก็อต ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาของรัฐบาลอินเดีย หลังจากที่เขาก่อตั้งบริษัทด้านสถาปัตยกรรมที่อินเดีย ในปี 1901และเป็นคนเดียวกับที่ออกแบบตึกกรมไปรษณีย์โทรเลขที่ถนนแฟรด้วย

ลองกวาดสายตาในบริเวณไม่ไกลกัน  จะเห็นอาคารสามชั้นสีเขียวซีดเซียวมียอดโดมน้ำตาลแดงบนปีกตึกทุกด้าน  นั่นเป็นกองบัญชีกลางที่คอยเก็บเกี่ยวผลประโยชน์จากการจำหน่ายฝิ่น ไม้สักและเกลือของสหราชอาณาจักรมาก่อน

บนถนนสแตรนด์  ยังมีไฮไลท์ที่ไม่ควรพลาดคือโรงแรม  “เดอะสแตรนด์” (The Strand)โดดเด่นด้วยสถาปัตยกรรมวิคตอเรีย  สร้างขึ้นเมื่อปี 1896 โดยสองพี่น้องตระกูลซาร์กี้ (Sarkie) ผู้เลื่องชื่อด้านการก่อตั้งโรงแรมหรูในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อย่าง โรงแรมออเรียนทัล ( Oriental) ในมาเลเซีย และ ราฟเฟิล (Raffles) ในสิงคโปร์

โรงแรมเดอะแสตรนด์จัดเป็นสัญลักษณ์ของยุคอาณานิคมสุดขั้ว  เพราะต้อนรับแต่ชนผิวขาว  จนกระทั่งถูกนำไปใช้เป็นฐานปฏิบัติการของกองทัพสมเด็จพระจักรพรรดิเมื่อถูกญี่ปุ่นยึดครอง   จากนั้นหลังสงครามสงบก็ถูกขายให้บริษัทพัฒนาเศรฐกิจพม่า (Burma Economic Development Corporation)  ก่อนที่จะเปลี่ยนมือมาสู่เบอร์นาร์ด เปวิน (Bernard Pe Win) นักธุรกิจชาวพม่าในปี 1989 จวบจนปัจจุบัน

The Strand โรงแรมที่เคยต้อนรับแต่ชนผิวขาว

ถัดไปไม่ใกล้ไม่ไกล  จะเห็นตึกสีขาวสะอ้าน  เคยเป็นที่ตั้งของสถานทูตอังกฤษ มีชื่อไม่เป็นทางการว่าตึก  เกรแฮม (Graham’s Building) ตามประวัติดั้งเดิมของอาคารนั้นถูกสร้างในค.ศ. 1898  เป็นสำนักงานของบริษัทเมสเซิส เจ แอนด์ เอฟ เกรแฮม แอนด์ โค ( Messrs J & F Graham & Co)  ทำธุรกิจส่งออก-นำเข้าและประกันภัยสินค้า

ตึกศาลสูง​ (High Court Building)  ที่ถนนปันโซดาน (Pansodan)   สร้างในปี 1911 ออกแบบโดยเจมส์ แรนซัม (James Ransome )อยู่ตรงจัตุรัสใกล้ ๆ กับสวนมหาบัณฑูละ(Mahabandoola Garden) เผชิญหน้ากับอนุสาวรีย์แห่งอิสรภาพ

สถาปัตยกรรมแนววิคตอเรียของศาลสูง

เห็นตึกสไตล์โคโลเนียลมากเข้า  บางคนอาจรู้สึกตาลาย และสับสนระหว่างศาลสูงกับตึกตรงหัวมุมตัดถนนดาลฮูซี่ (Dalhousie) และ ถนนบาร์ (Barr) ด้วยความที่มีสีน้ำตาลอิฐสลับเหลืองที่มีหอคอยนาฬิกาเหมือนกัน  ทั้งนี้ ในอดีตเป็นห้างสรรพสินค้าโรวี่แอนด์โค (Rowe & Co) ของอังกฤษ  สังเกตได้ว่าบุคลิกภายนอกของศาลสูงดูขลังอำนาจมากกว่าจากสีน้ำตาลเข้มที่ระบายบนตัวอาคารเป็นหลัก จะมีเหลืองแซมก็เฉพาะชั้นล่างสุดและเล่นระดับระหว่างชั้น

อาคารใหญ่ ๆ  ในสมัยนั้นมักออกแบบโดยมือโปรชาวตะวันตก แต่ก็มีคนท้องถิ่นแทรกตัวเข้ามาได้  นั่นคือ สิทถุ อู ทิน  (Sithu U Tin ) ซึ่งชาวพม่าให้การยกย่องว่าเป็นสถาปนิกผู้บุกเบิกและคำว่าสิทถุแปลว่า “วีรบุรุษ” เสียด้วย เขาผู้นี้ออกแบบสถานีรถไฟ (Central Railway Station) ในปี  1910 และศาลากลาง (City Hall)  ที่ตั้งอยู่ใกล้ ๆ วงเวียนสุเลพะยาในปี 1927 จึงเป็นผลงานแห่งความแตกต่าง มีลักษณะผสมผสานรากฐานแข็งแรงแบบตะวันตกเข้ากับศิลปะพม่า ด้วยตัวอาคารแนวสมัยใหม่สวมด้วยยอดแหลมสลักสเลาวิจิตรพิสดารอ่อนช้อย  ทั้งนี้ ตัวเขาเองมีดีกรีเป็น “นักเรียนนอก”  เรียนจบด้านสถาปัตยกรรมมาจากมหาวิทยาลัยบอมเบย์ในอินเดีย

ศาลากลางย่างกุ้งฝีมือสถาปนิกชาวพม่า

บนถนนสแตรนด์ก่อนเข้าสู่ถนนเตียนพยู (Thien Phyu)  จะสะดุดตากับตึกใหญ่ที่มีความสำคัญในฐานะเป็นกองบัญชาการตำรวจข้าหลวงอังกฤษมาก่อน ซึ่งปัจจุบันชาวบ้านร้านตลาดถูกกีดกันไม่ให้เดินผ่าน  แต่ต้องข้ามถนนไปเดินห่าง ๆ อยู่อีกฟากหนึ่ง เพราะที่แห่งนี้คือสำนักงานใหญ่กรมตำรวจ   จึงเป็นกฏที่ผู้มาเยือนควรจำให้ขึ้นใจว่า ไม่ควรเผลอถ่ายรูปเจ้าหน้าที่ตำรวจทหารและกิจการของรัฐบาลโดยเด็ดขาด

ส่วนตึกสีน้ำตาลทรงคล้ายป้อมปราการกินอาณาบริเวณกว้างขวางตรงตัวมุมถนนThien Phyu ตัดกับถนนอโนรธา (Anawrahta) ตึกสุดแสนอลังการซึ่งปัจจุบันถูกทิ้งร้างปิดตาย หลังนี้เคยเป็นที่ทำการของคนระดับบิ๊ก ๆ ในยุคอาณานิคม จากนั้นรัฐบาลทหารพม่าก็นำมาใช้เป็นสำนักรัฐมนตรี (Minister’s Office บ้างก็เรียกว่า  Secretariat) เป็นที่เดียวกับที่นายพลอองซาน (บิดาของนางอองซานซูจี)  ผู้นำในการเรียกร้องสันติภาพคืนจากอังกฤษและรัฐมนตรีอีก 6 คนถูกลอบสังหารในวันที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2490 (ค.ศ. 1947 ) เกิดขึ้นหลังจากนายพลอองซานขึ้นนั่งเก้าอี้นายกรัฐมนตรีคนแรกของพม่าได้เพียง 6 เดือนเท่านั้น

ริมแม่น้ำอิระวดียังมีร่องรอยผลประโยชน์ด้านขนส่งทางน้ำของอังกฤษที่สะดุดตาอย่างยิ่ง นั่นคือสำนักงานของบริษัทอิระวดีโฟว์ทิล่า ( Irrawaddy Floatila) ก่อตั้งในปี 1865โดยนักธุรกิจจากสก๊อตแลนด์ ตั้งแต่เมื่อครั้งแผ่นดินยังอยู่ใต้การปกครองของพระเจ้ามินดง ปัจจุบันถูกยึดเป็นของรัฐบาลชื่อว่าอินแลนด์วอเตอร์ ( Inland Water Transport)

ช่วงถนนแฟร (Phayre) ตัดกับถนนแบงค์ (Bank) จะพบตึกแนวอาร์ตเดคโค ที่มีรูปทรงเส้นเสาผสมผสานโครงสร้างแบบเรขาคณิต ให้ความรู้สึกเรียบหรู  เชื่อกันว่าเคยเป็นธนาคารการค้าสำหรับอินเดีย ออสเตรเลียและจีนมาก่อน

ยังมีสถาปัตยกรรมวิคตอเรียที่น่าสนใจอีกแห่งหนึ่งที่ถนนลันมะดาว (Lanmadaw) ที่นี่มีโรงพยาบาลทั่วไป (Yangon General Hospital) รูปทรงตึกสามชั้นระบายสีน้ำตาลแซมเหลือง สร้างในปี 1899 นอกจากจะรักษาผู้ป่วยมาตั้งแต่ยุคอาณานิคม ยังจารึกรอยประวัติศาสตร์ของเหตุการณ์ 8888 ซึงประชาชนออกมาเรียกร้องประชาธิปไตยและเกิดเหตุจราจลบาดเจ็บล้มตายจำนวนมากในวันที่ 8 เดือนสิงหาคม 1988  และเป็นสถานที่นางอองซานซูอีแถลงต่อสาธารณชนเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 24 ในเดือนและปีเดียวกัน

ตรงข้ามโรงพยาบาลทั่วไป  จะมีตึกทรงเตี้ยสองชั้นสีน้ำตาลสลับสีขาวตามขอบหน้าต่างใหญ่สองตอนขอบโค้ง ที่แห่งนี้เคยเป็นวิทยาลัยการแพทย์ตั้งแต่ปี 1929 ตามประวัติเล่าว่าเป็นการขยับขยายจากการศึกษาในโรงพยาบาลฝั่งตรงข้ามนั่นเอง

ใครต่อใครที่มาเยือนย่างกุ้งต่างต้องมาเดินชมสินค้านานาชนิดที่ตลาดโบจ๊ก อองซาน (Bogyoke Aung San ) ที่ทอดตัวยาวริมถนนชื่อเดียวกัน  ตลาดนี้สร้างขึ้นสมัยอาณานิคมเช่นกัน เมื่อปี1926  สมัยโน้นใช้เป็นสถานีรถราง ในเวลาต่อมาใช้เป็นแหล่งจับจ่ายสินค้าก็มีนามเรียกขานกันว่าตลาดสก๊อต (Scott Market) โดยตั้งตามเจมส์ จอร์จ สก๊อต (James George Scott)  ข้าหลวงชาวอังกฤษที่ว่ากันว่าทำให้คนพม่ารู้จักกีฬาฟุตบอล ส่วนถนนก็มีชื่อว่าข้าหลวงมอนต์โกเมอรี่  (Montgomery Commissioner) พอมาสมัยได้รับอิสรภาพคืน ก็ตั้งชื่อให้เกียรตินายพลอองซาน  (“โบจ๊ก”  แปลว่านายพล) วีรบุรุษในใจของคนในประเทศแทน

ตลาดโบจ๊กอองซานที่ไม่เหลือเค้าสถานีรถราง

ที่พึ่งทางใจของชาวตะวันตกในยุคนั้นย่อมไม่พ้นโบสถ์  ที่เด่น ๆ ก็มีโบสถ์ศาสคณะแห่งเมทอดิสต์ (Methodist Episcopal Church)บนหัวมุมถนนเฟรเซอร์ (Fraser) ตัดกับถนนแฟร ซึ่งอยู่คู่เมืองมาตั้งแต่ปี 1880  นอกจากนี้ยังมีโบสถ์นิกายโรมันคาทอลิกชื่อ เซนต์แมรี่ (St. Mary’s Cathedral) บนถนนสปาร์ค (Spark) ก่อตั้งขึ้นปี 1908  มีโรงเรียนเซนต์พอล (St. Paul) อยู่ข้าง ๆ และโบสถ์เพรสไบทีเรีย (Presbyterian) ซึ่งเป็นนิกายโปรแตสเตนต์แขนงหนึ่ง โดยโบสถ์นี้มีความเก่าแก่น้อยลงมา 20 ปี ปัจจุบันใช้ชื่อว่าโบสถ์แบ๊บติสต์เมียวม่า ( Myo Ma Baptist Church) อยู่ใกล้ ๆ ถนนสายหลักของเจดีย์ชเวดากอง

ดังนั้น  “ย่างกุ้ง” ยังคงอบอวลไปด้วยร่องรอยประวัติศาสตร์ยุค  “ล่าอาณานิคม” อย่างยิ่ง หากไม่รวมสถานที่ภาคบังคับสำหรับนักท่องเที่ยว เช่น  ชเวดากองเจดีย์อร่ามทองอายุสองพันกว่าปี  โรงช้างเผือก  พระนอน ฯลฯ รวมทั้งสถานที่ธรรมชาติอย่างทะเลสาบหลวงกันดอว์จีที่ตั้งของเรือการะเวกจำลอง จุดชมวิวหรูหราราคาแพงและทะเลสาบอินยาบริเวณกักตัวนางอองซานซูจี  หรือ  “The Lady”

หากจะกล่าวว่าหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่พม่าอยากลบเลือนเหล่านี้ยังคงหนาแน่นชุกชุมจัดว่าสมบูรณ์ที่สุดแห่งหนึ่งในเอเชียคงไม่ผิด แม้สภาพอาจจะทรุดโทรมไปบ้างตามกาลเวลา ขอเพียงแต่รู้จักรักษาให้คงไว้ ย่อมทรงคุณค่าต่อการศึกษาอดีตสืบไปตามที่ปรากฏในรายชื่อ “มรดกแห่งเมืองย่างกุ้ง”

(e-MoF Magazine ปีที่ 5 ฉบับที่ 53)

11/09/2009

มัณฑะเล – อมรปุระ – อังวะ – สะแคง : ราชธานีก่อน “พม่าเสียเมือง”

amarapura

ในฐานะที่เป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจตอนบนของของเมียนมาร์ (Myanmar) และเป็นราชธานีสุดท้ายก่อน “พม่าเสียเมือง” อาจทำให้ “มัณฑะเล” เป็นที่จดจำของคนทั่วไป แต่แท้จริงแล้วเมืองโบราณที่อยู่ใกล้กันอีก 3 เมืองคือ “สะแคง” “อังวะ” และ “อมรปุระ”  เสริมคุณค่าให้ “มัณฑะเล” ทอประกายงดงามทางศิลปะ วัฒนธรรม และประวัติศาสตร์ยิ่งขึ้นไปอีก

ต้องย้อนกลับไปที่ ค.ศ. 1287 หลังจากอาณาจักรพุกามล่มสลายจากการถูกกองทัพจีนมองโกลตีแตก พม่ายุคนั้นแตกเป็นเมืองเล็กเมืองน้อย  รวมกลุ่มชาติพันธุ์ได้ที่ไหนก็ตั้งราชธานีที่นั่น

ขณะที่ชาวมอญตั้งราชธานี “แบ่กู” (Bago หรือ “พะโค”) ที่พม่าตอนล่าง ในเขตพม่าตอนบนก็มีเจ้าไทยใหญ่ (ฉาน) สร้างเมือง “สะแคง” (Sagaing หรือไทยเรียกว่า “จักกาย”)  ที่อยู่ริมแม่น้ำอิระวดีฝั่งตะวันตกเป็นราชธานี แต่ยืนยาวได้ไม่ถึง 60 ปีมีการรบพุ่งกันจนเมืองแตกอีกครั้ง ผู้กำชัยสถาปนา “อังวะ” (Inwa)  ที่อยู่ฝั่งตรงข้ามเป็นเมืองหลวงแทน บ้านเมืองสงบสุขอยู่ได้นานถึงเกือบ 400 ปี ก่อนมีการสร้าง “อมรปุระ”(Amarapura) ซึ่งอยู่เหนือกรุงอังวะเล็กน้อย เป็นราชธานีแห่งใหม่และยืนยาว 76 ปี ตามมาด้วย “มัณฑะเล” (Mandalay) ที่กลายเป็นราชธานีสุดท้าย อายุเพียง 28 ปี

…..อดีตราชธานีของพม่าตอนบนเหล่านี้ ล้วนแต่มีความงดงามต่างกันโดยมีแม่น้ำอิระวดีเป็นศูนย์กลาง…..

“สะแคง” ราชธานีเก่าของฉาน เต็มไปด้วยเจดีย์สีขาว บ้างก็แต่งแต้มด้วยยอดสีทองเรียงรายบนเนินเขา ตามความเชื่อโบราณถือเป็นเขาพระสุเมรุ  โดยนักท่องเที่ยวหลายคนนิยมชมวิวที่วัดอูมินทงแซ (Uminthounzeh)  ซึ่งมีพระพุทธรูป 45 องค์เรียงรายอยู่ภายในถ้ำ

มาที่เมือง “อังวะ” ที่เป็นราชธานียาวนานกว่าใครดูกว้างใหญ่ ผสมผสานร่องรอยประวัติศาสตร์ทั้งใหม่และเก่า มีสัญลักษณ์เป็นสะพานเหล็กข้ามแม่น้ำอิระวดี เก่าแก่สร้างโดยอังกฤษเมื่อปี 1934 ก่อนที่จะระเบิดทิ้งเสียเองในปี 1942 เพื่อไม่ให้ญี่ปุ่นใช้ประโยชน์ นอกจากนี้ยังมีเจดีย์สำคัญอีกหลายแห่ง เช่น ติไหล่ชิน (Htilaingshin Paya) ที่สร้างตั้งแต่สมัยพุกาม เป็นต้น

ส่วน “อมรปุระ” แม้ตัวพระราชวังเดิมและกำแพงเมืองจะถูกรื้อถอนไปใช้ประโยชน์ในสมัยอื่นเสียแล้ว แต่ก็ยังอบอวลด้วยบรรยากาศเมืองเก่า มีสะพานอูเบ่ง (U Bein) ทำด้วยไม้สักเก่าแก่อายุ 200 กว่าปีทอดยาว 1.2 กิโลเมตรเหนือทะเลสาบต่าวตะหมั่น (Taungthaman) เป็นสัญลักษณ์และวัดขนาดใหญ่จำนวนมาก ชาวบ้านยึดอาชีพทอผ้าเป็นหลักจนเป็นผลิตภัณฑ์ประจำเมือง

สำหรับ “มัณฑะเล” สร้างโดยพระเจ้ามินดงเมื่อปี 1857 แม้ขณะนั้นพม่ายังเต็มไปด้วยคติและวิถีชีวิตดั้งเดิม แต่ นักล่าอาณานิคมจากตะวันตกเริ่มคืบคลานเข้ามามีบทบาทในประเทศมากขึ้นทุกที

กระทั่งมาถึงยุคพระเจ้าตีป่อ (หรือ สีป่อ) ครองบัลลังก์แทนพระเจ้ามินดง  สถานการณ์ของพม่าอาจคล้ายคลึงกับไทยที่ถูกกดดันจากฝรั่งเศสและอังกฤษที่ต่างหาเหตุเข้ามาแสวงหาผลประโยชน์ แต่ที่แตกต่างคือพระเจ้าตีป่อหันไปฝักใฝ่ฝรั่งเศสทำให้อังกฤษเสียสิทธิการค้า จนอ้างเหตุยกกองทัพมาตีพม่าจนเสียเอกราชนับตั้งแต่วันขึ้นปีใหม่ของปี 1886 และพระเจ้าตีป่อกลายเป็น “กษัตริย์องค์สุดท้าย” ของพม่า  โดยถูกเนรเทศไปอยู่อินเดียนาน 30 ปีตราบจนสิ้นพระชนม์

โชคดีที่อังกฤษเห็นคุณค่าของศิลปวัฒนธรรม ยินดีบูรณะสืบสานพระราชวังมัณฑะเล แม้จะเป็นไปไม่ได้ที่คนรุ่นหลังจะได้ชื่นชมพระราชวังที่ทำด้วยไม้สักทั้งหมดเช่นในอดีต แต่ก็ยังเติมเต็มร่องรอยอารยธรรม โดยแผนผังของเมืองถอดแบบ “อมรปุระ” ด้วยลักษณะสี่เหลี่ยมจัตุรัส กำแพงเมืองยาวเกือบ 2 กิโลเมตรล้อมรอบด้วยคูน้ำ ซึ่งมาจากความเชื่อเรื่อง “แผนภูมิจักรวาล” แบบพราหมณ์

บริเวณใกล้พระราชวัง มีภูเขามัณฑะเล (Mandalay Hill) ตระหง่านงาม นอกจากนี้ยังวัดมหามุนี (Mahamuni Paya) ซึ่งมีอีกชื่อหนึ่งว่าวัดระไค ตามชื่อเมืองเดิม “ระไค” (Rakhaing ไทยเรียกว่า “ยะไข่”) ที่พระมหามุนีเคยประดิษฐาน ก่อนถูกหั่นออกเป็นสามท่อนเพื่อเคลื่อนย้ายมาที่นี่

หนึ่งในพระพุทธรูปที่สำคัญที่สุดในพม่าอายุกว่าพันปีองค์นี้หล่อด้วยสำริด มีความสูงประมาณ 4 เมตร กระทั่งถูกไฟไหม้ครั้งใหญ่ซึ่งเกิดขึ้นก่อนที่พม่าจะเสียเมือง 1 ปี จนเชื่อกันว่าเป็น “ลางบอกเหตุ”  เผาวัดเสียวอดวาย และทำให้พื้นผิวขององค์พระมหามุนีขรุขระ อย่างที่สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพบรรยายไว้ในพระนิพนธ์ “เที่ยวเมืองพม่า” ว่าเหมือน “หนังไก่ย่น”

ทว่าผู้คนยิ่งเลื่อมใสศรัทธาพากันปิดทองซ้ำทับไปทับมาบนองค์พระจนมีความหนาเพิ่มขึ้น 15 เซนติเมตร จะเว้นก็แต่ฤดูฝนที่ปิดทองไม่ได้ เพราะทรงจีวร  อย่างไรก็ตาม จะเป็นฤดูไหนผู้หญิงก็หมดสิทธิ์เข้าไปปิดทองโดยเด็ดขาด ต้องไหว้วานผู้ชายช่วยจัดการให้  แต่ที่ทุกเพศวัยต่างมีโอกาสเหมือนกันคือตื่นแต่เช้ามืดเพื่อเข้าร่วมพิธีชำระพระพักตร์ของพระมหามุนีในช่วงตี 4

ตามด้วยอาหารเช้าขึ้นชื่อของมัณฑะเล เป็นขนมจีนไก่กระทิน้ำพริกเผา โรยหมี่กรอบ บีบมะนาว ใส่หอมแดงหั่นเป็นแว่น ละม้ายคล้ายคลึงกับ “ข้าวซอย”  ซึ่งชาวมัณฑะเลนิยมไปนั่งกินกันที่ร้าน Shwe Pyi Moe Cafe ข้างพระราชวัง

ในวัดมหามุนียังมีรูปหล่อสำริดศิลปะเขมร คือ พระอิศวร สิงห์และช้างเอราวัณ ที่ดั้งเดิมเป็นสมบัติเขมร ก่อนตกเป็นของไทยอยู่ 146 ปีหลังจากที่ยกทัพไปตีเมืองพระนคร จากนั้นก็ผลัดมือมาเป็นของพม่าเมื่อครั้งเสียกรุงศรีอยุธยาจวบจนปัจจุบัน

นอกจากราชธานีโบราณเหล่านี้แล้ว ทางตอนบนของ “มัณฑะเล” ประมาณ 10 กิโลเมตรยังมีเมือง “มิงกุน”(Mingun) ที่โดดเด่นด้วยระฆังใหญ่ที่สุดในโลกมีน้ำหนักเกือบ 90 ตัน และซากเจดีย์มิงกุนที่สร้างเมื่อ 1797 แต่ก็ไม่อาจสำเร็จลุล่วงเนื่องจากเป็นโครงการก่อสร้างที่มโหฬารเกินกำลัง กระหน่ำซ้ำด้วยแผ่นดินไหว ทำให้ยอดถล่มลงมาเหลือแต่ช่วงฐานสูงประมาณ 50 เมตรและปรากฏรอยแยกผ่ากลางอย่างชัดเจน

การได้มาเยือน “มัณฑะเลย์” และเมืองเก่าแก่รายล้อมเหล่านี้จึงถือเป็นประสบการณ์อิ่มเอมใจไม่ยิ่งหย่อนกว่าไป “พุกาม” ด้วยคุณค่าที่ถักประสานกิ่งก้านอารยธรรมของพม่าตอนบนไว้อย่างงดงามแน่นหนา


(e-MoF Magazine ปีที่ 5 ฉบับที่ 52 เรื่องและภาพโดย วันพยา ณ ลำพูน)


พุกาม – ความยิ่งใหญ่ที่ไม่ต้องตีตรา “มรดกโลก”

Bagan1

 

ในบรรดาโบราณสถานสำคัญในแถบเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ ไม่ว่าจะเป็นอาณาจักรขอมโบราณนครวัดนครธมแห่งกัมพูชา บุโรพุทโธของอินโดนีเซีย หรือจะโบราณน้อยลงมาหน่อยอย่างเมืองหลวงพระบางของลาว ล้วนได้รับการรับรองจากองค์การศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) ให้เป็นพื้นที่ทรงคุณค่าควรแก่การอนุรักษ์ หรือที่เรียกว่ามรดกโลก” 

 

….ยกเว้นอาณาจักรพุกามแห่งประเทศเมียนมาร์ (พม่า) ทั้ง ที่เปี่ยมคุณค่าและเก่าแก่ไม่แพ้ใคร

 

ถึงกระนั้น นักท่องเที่ยวยังคงใฝ่ฝันได้เยือนพุกามก่อนตายด้วยภาพมหัศจรรย์ของเจดีย์น้อยใหญ่เรียงรายเต็มแผ่นดิน นี่ขนาดผ่านภัยธรรมชาติและการทุบทำลายของมองโกลจนหดหายไปกว่าครึ่ง ก็ยังมีเจดีย์กว่าสองพันแห่ง อาณาเขตกว้างขวางกว่าอาณาจักรสุโขทัยศรีสัชณาลัยของไทยหลายเท่า 

 

แม้จะเก่าแก่ยิ่งกว่าสุโขทัย รวมไปถึงนครวัดกว่าร้อยปี องค์กรยูเนสโกก็ยังไม่ประกาศรับรองอาณาจักรพุกามให้เป็น “มรดกโลก” เพื่อแสดงท่าทีไม่สนับสนุนผลประโยชน์ของรัฐทหาร 

 

แต่ไร้ตรายูเนสโกกลับส่งผลดี เพราะช่วยจำกัดการท่องเที่ยวแบบถล่มทลาย ทำให้รอดพ้นเงื้อมมือการเติบโตทางวัตถุมากเกินไป แถมยังคงบรรยากาศความขลังอลังการแบบดั้งเดิม โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับภาพบาดตาจากกรุ๊ปทัวร์ล้นหลามและความเจริญจากตะวันตก เสียมเรียบที่ตั้งนครวัดนครธม หรือ หลวงพระบางของลาว 

 

ทั้งนี้ นักท่องเที่ยวทุกคนต้องเสียค่าเข้าเมืองพุกาม 10 เหรียญดอลลาร์สหรัฐ ที่รัฐบาลอ้างว่าเป็นการช่วยอนุรักษ์และบำรุงรักษาเขตโบราณสถานแห่งนี้ 

 

เมืองพุกามมีขนาดไม่ใหญ่นัก ภายในพื้นที่ประมาณ 42 กว่ากิโลเมตรเท่านั้น ชาวเมืองยังคงมีวิถีชีวิตแบบดั้งเดิมและนิยมใช้รถม้า โดยแบ่งโซนเป็นพุกามเก่าหรือโซนโบราณสถาน ซึ่งก็มีสถานที่ราชการและโรงแรมอยู่ประปราย 

 

ส่วนพุกามใหม่ห่างออกไปเพียง 3 กิโลเมตร เป็นแหล่งที่อยู่ มีโรงแรม เกสต์เฮาส์ ร้านอาหารชุกชุมมากขึ้น ด้านตะวันออกเฉียงเหนือไกลออกไปอีกหน่อยมีเหยาอูเป็นชุมชนนักท่องเที่ยว สะดวกต่อการเดินทางไป-มา เพราะอยู่ใกล้สนามบินและสถานีรถไฟ

 

ผู้มาเยือนพุกามย่อมไม่พลาดวัดอนันดา ที่ยกย่องกันว่าเป็นวัดที่สวยที่สุด โดดเด่นด้วยสถาปัตยกรรมแบบมอญ และมีปรางค์ซึ่งจัดเป็นต้นแบบของวัดส่วนใหญ่ในพุกาม ภายในซุ้มประตูของวัดมีทั้งหมด 4 ด้านประดับด้วยพระพุทธรูปยืนสูงประมาณ 9 เมตรทุกด้าน

 

ไม่เพียงเป็นศูนย์รวมแห่งศรัทธา วัดอนันดาเป็นศูนย์กลางของการใช้ชีวิต มีตลาดนัดใกล้ ซึ่งแผงร้านค้ามีสภาพไม่ต่างจากตลาดต่างจังหวัดบ้านเรานัก แต่เงียบสงบกว่า สินค้าส่วนใหญ่เป็นผ้าซิ่น สมุนไพร สินค้าอุปโภคบริโภคทั่วไป ตลอดจนซีดีปลอม 

 

ที่ต่างจากบ้านเราคือเขาขายซีดีธรรมะเป็นล่ำเป็นสันมากกว่า ชนิดติดโปสเตอร์พระพรืดเต็มแผง และมีซุ้มสตูดิโอบริการถ่ายภาพกับฉากวิว

 

ที่พุกามหากเราลองหยิบกล้องถ่ายรูปขึ้นมาสุ่มถ่ายภาพ อาจพบว่าถ่ายมุมไหนก็ติดเจดีย์ เพราะนับไม่หวาดไม่ไหว คนรักศิลปะและของโบราณคงอยากอยู่พุกามสักเดือน เพื่อดื่มด่ำเจดีย์นับพันที่ล้วนงดงามมีเอกลักษณ์เฉพาะให้ครบ 

 

สำหรับคนที่มีเวลาน้อย สถานที่ที่ห้ามพลาดนอกเหนือจากวัดอนันดา คือ วัดสัพพัญญูที่สูงตระหง่านที่สุดในพุกาม ขณะที่วัดธรรมะยังจีถือเป็นวัดขนาดใหญ่ที่สุด สร้างโดยกษัตริย์ที่คิดไถ่บาปจากการปลงพระชนม์พระปิตุลาของตน 

 

นอกจากนี้ยังมีเจดีย์บูพยาทรงน้ำเต้า วัดสุลามณีที่ทั้งงดงามภายนอกด้วยการเรียงตัวแน่นของอิฐและจิตรกรรมภายใน หากยังไม่อิ่มภาพพุทธประวัติต้องไปโบสถ์อุบาลีต่อ แต่ถ้าสนใจศิลปะยุคหลัง ๆของพุกามควรไปชมวัดมิงกะลาเซดี ขณะที่วัดมหาโพธิ์ สะท้อนให้เห็นอิทธิพลของวัดพุทธคยาในอินเดีย 

 

อย่าลืมว่านอกเขตพุกามเก่าก็มีของดี พุทธศาสนิกชนควรไปเยือนวัดชเวซิกอง กราบไหว้พระบรมสารีริกธาตุเพื่อความเป็นสิริมงคล

 

แต่ถ้ายังไม่อิ่มวัด ลองเดินทางไปภูเขาโปปะที่อยู่นอกเมือง นอกจากเยือนวัดบนยอดเขาหลังเดินขึ้นบันไดยาวเหยียดจนเหนื่อยแล้ว จะพบหลักฐานการนับถือผี (นัต) 37 ตนของชาวบ้านตั้งแต่ก่อนการเผยแผ่พุทธศาสนา ระหว่างทางสามารถแวะชมวิถีชาวสวนตาล และผลิตน้ำตาลปึก น้ำตาลยา น้ำตาลเมา และไวน์ ส่วนใหญ่ห่อหุ้มแพ็กเกจจิ้งใบตาลสานเก๋ไก๋น่าอุดหนุนเป็นของฝาก

 

นักท่องเที่ยวมักนิยมชมทะเลเจดีย์แห่งพุกามด้วยรถม้า เพราะได้บรรยากาศอดีตสุดแสนรื่นรมย์ แต่การนั่งบอลลูนชมเมืองก็เป็นทางเลือกที่น่าสนใจอย่างยิ่ง แม้สนนราคาแพงแต่ก็คุ้มค่าที่ได้ลอยอยู่เหนือเจดีย์เก่าแก่ทั้งปวง ทอดสายตาชมทัศนียภาพเมืองอย่างเต็มอิ่มทั้งวัด แม่น้ำ และบ้านเรือนผู้คน ซึ่งเป็นทางเลือกสุดโรแมนติกในการชมวิวพระอาทิตย์ตกดิน

 

แต่ถ้าอยากประหยัดเงินให้เข้ากับยุคเศรษฐกิจฝืดเคืองยามนี้ จะไปรวมตัวกับนักท่องเที่ยวและคณะทัวร์อื่นเพื่อชมทัศนียภาพอาทิตย์ลับฟ้าที่วัดมิงกะลาเซดีก็ได้

 

ใครก็ตามที่มาเยือนพุกาม ล้วนแต่ติดใจในมนต์เสน่ห์แห่งอดีต ศิลปะและวัฒนธรรมเก่าแก่นับพันปีที่งดงาม ผู้คนท้องถิ่นที่ภาคภูมิใจในสมบัติของตน 

 

เห็นทีรัฐบาลทหารเมียนมาร์ต้องขอบคุณองค์กรยูเนสโกที่ไม่ขึ้นทะเบียนอาณาจักรพุกามเป็นมรดกโลกเพราะนั่นเป็นการช่วยรักษาศิลปะและวัฒนธรรมดั้งเดิมของพุกาม และดำรงไว้ซึ่งคุณค่าและความหมายของมรดกโลกในตัวเอง แทนที่จะถูกกระแสวัตถุนิยมครอบงำเหมือนโบราณสถานอื่น

 

(เรื่องและภาพ – วันพยา ณ ลำพูน, ตีพิมพ์ในนิตยสาร Thailand Industrial Today, May 2009)

สร้างเว็บไซต์หรือบล็อกฟรีที่ WordPress.com.