Travel the World – ดื่มศิลปะ เคล้าวัฒนธรรม แกล้มประวัติศาสตร์

06/12/2009

Jazz ไม่ใช่อเมริกัน Telescope ไม่ใช่ดัทช์ หรืออิตาเลี่ยน

สิ่งต่าง ๆ  ในโลกนี้ล้วนยั่งยืนจากการสืบสานต่อยอดสร้างสรรค์เพื่อจรรโลงโลก  จนแทบไม่จำเป็นต้องถกเถียงในความเป็นเจ้าของ นอกจากมอบแก่ชาวประชาสากลในฐานะ “มรดกโลก”

ผู้เขียนเพิ่งไปงานคอนเสิร์ตบิกเกิลส์ บิ๊คแบนด์ ( Biggles Big Band in Concert) งานแสดงดนตรีแจ๊สที่ถูกขับกล่อมบรรเลงใหม่โดยวงแจ๊สชาวดัทช์ ยามค่ำคืนในสวนสวยของสถานทูตเนเธอร์แลนด์ ที่ถนนวิทยุ โอบล้อมด้วยสัญลักษณ์ทางวัฒนธรรมของแดนกังหันลม เช่น รองเท้าไม้  อาคารหลังคาหน้าจั่วแบบบาโร้ก (Baroque) ยุคศตวรรษที่ 17 และมีซุ้มขายอาหารและเครื่องดื่มสไตล์ฮอลแลนด์ประปราย

วงบิ๊คเกิ้ลส์ ห้อยท้ายกำกับว่ามาจากอัมสเตอร์ดัม (Amsterdam) เมืองท่าสำคัญของเนเธอร์แลนด์ เป็นคณะดนตรีชุดใหญ่” 18 ชิ้น สั่งสมประสบการณ์ด้านแจ๊สมาเนิ่นนานกว่า 25 ปีแล้ว แต่เพิ่งมาทัวร์เมืองไทย ช่วง 4 – 18 พฤศจิกายนที่ผ่านมานี้ จากหัวหิน สุโขทัย อยุธยา กาญจนบุรี กรุงเทพฯ สิ้นสุดที่พัทยา ซึ่งเฉพาะการแสดง“Jazz de Chang Kanchanaburi” ที่กาญจนบุรีเท่านั้น ที่ มีการบริจาครายได้หลังจากหักค่าใช้จ่ายให้แก่เครือข่ายอนุรักษ์ช้างป่า

ที่มาของเพลงแจ๊สนั้น  ประวัติศาสตร์โลกระบุว่ามีตั้งแต่ยุคค้าทาสถือกำเนิดในอเมริกาโดยคนผิวดำเชื้อสายแอฟริกา แต่บรรพบุรุษของแจ๊สก็หลากพ่อพันธุ์แม่ หลายวัฒนธรรมจนเกือบจะค่อนโลก

บ้านเกิดของแจ๊สคือนิวออร์ลีนส์ อยู่ปากแม่น้ำมิสซิสซิปปี เป็นเมืองท่าที่แต่เดิมถูกฝรั่งเศสและสเปนปกครอง ก่อนขายให้อเมริกาในยุคนั้นนอกจากมีทาสผิวดำจากแอฟริกา และนายคนขาวชาวฝรั่งเศส สเปน อังกฤษ และอเมริกัน ยังมีคนขาวจากยุโรปชาติอื่น อพยพเข้ามามากขึ้น กลายเป็นแหล่งหล่อรวมผสมผสานชาติพันธุ์และวัฒนธรรมในโลกใหม่

หลังจาก “สมาสและสนธิ” ก็มีครีโอล” (Creole) ลูกผสมของคนดำกับคนขาว (โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “คนขาวฝรั่งเศส” ขณะที่ตำราอังกฤษบางเล่มบอกว่าหมายถึง “ลูกผสมที่พูดภาษาฝรั่งเศสและสเปนได้”) พวกเขานี่เองที่ปั้นหลอมดนตรีแจ๊ส ซึ่งมีรากเหง้าของบูลส์ (Blues) แรกไทม์ (Ragtime) เพลงสวดพื้นเมือง (Spiritual) และโยธวาทิต (Brass  band) ในเวลาต่อมา

วัฒนธรรมย่อมถูกขับเคลื่อนเลื่อนไหลไปตามพาหะ หลังจากสหรัฐอเมริกาเข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่ 1และปิดสถานเริงรมย์ในย่านสตอรี่วิลล์ (Storyville) ของนิวออร์ลีนส์ ในปี 1917 นักดนตรีจึงโยกย้ายถิ่นฐานจากนิวออร์ลีนส์เพื่อชีวิตที่ดีกว่า และดนตรีแจ๊สก็เดินทางตามไปคึกคักเกรียวกราวในชิคาโกและนิวยอร์ค

ส่วนการส่งออกแจ๊สไปยุโรป เริ่มจากประเทศที่พูดภาษาใกล้เคียงกันก่อนคืออังกฤษ ที่แปลกประหลาดอย่างยิ่งคือนักดนตรีแจ๊สอเมริกันวงแรกที่ได้เหยียบเมืองผู้ดีในปี ค.ศ. 1919 เป็นคนผิวขาว นั่นคือ ดิ ออริจินัล ดิกซีแลนด์ แจ๊ส แบนด์ (Original Dixieland Jazz Band) ซึ่งเป็นเจ้าของสถิติโลกว่าได้ออกแผ่นเสียงเพลงแจ๊สสู่ท้องตลาดเป็นวงแรกอีกด้วย

กำแพงใด ในประเทศอเมริกาจึงไม่อาจขวางกั้นความนิยมในดนตรีแจ๊สได้ หลังจากสงครามโลกครั้งที่หนึ่งสิ้นสุดลง แจ๊สก็แตกกิ่งก้านสาขาแพร่หลายในยุโรปมากขึ้น แต่หากนับศิลปินแจ๊สผิวดำที่เป็นผู้บุกเบิกโด่งดังรุ่งเรืองในยุโรปมากที่สุดยุคนั้น ต้องยกให้ ซิดนี่ย์ บิเชต์ (Sidney Bechet) มือแซกโซโฟนเสียงโซปราโนคนเดียวกับที่ในหลวงรัชกาลที่ 8 และ 9 ของปวงชนชาวไทยโปรดอย่างยิ่ง (อ้างจากเจ้านายเล็กๆยุวกษัตริย์พระนิพนธ์ของสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์)

ดนตรีแจ๊สมักได้รับเสียงชื่นชมในต่างแดนมากกว่าต้นทาง เพราะอเมริกาเต็มไปด้วยการเหยียดผิว และให้ความสำคัญกับศิลปะและวัฒนธรรมลึกซึ้งน้อยกว่า ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือซิดนีย์ บิเชต์ เขายอมปักหลักอยู่ปารีสจนตายดีกว่าชอกช้ำน้ำตารินในบ้านเกิด ซึ่งคนฝรั่งเศสก็บูชาถึงขนาดทำอนุสรณ์ให้ซิดนี่ย์ตรงสี่แยกกลางกรุงปารีส

มาที่ทวีปเอเชีย ถ้าถามว่าชาติไหนคลั่งดนตรีแจ๊สมากที่สุด ขอฟันธงว่าประเทศญี่ปุ่น ส่วนประเทศไทยนั้น แจ๊สได้รับความนิยมเฉพาะกลุ่ม จนกระทั่งช่วงหลัง กลายเป็นกระแสมาแรงในกลุ่มคนรุ่นใหม่ ยิ่งถ้าจัดแสดงสดในบรรยากาศธรรมชาติจะได้รับความสนใจอย่างยิ่ง

…ก็ไม่เห็นเป็นไร แม้เพลงแจ๊สจะมีจุดเริ่มต้นในอเมริกาและคณะดนตรีชุดใหญ่” (บิ๊คแบนด์) เกิดมาจากคลับบาร์ในนิวยอร์ค แต่ใต้แสงจันทร์และสปอร์ตไลท์ในค่ำคืนนั้น…บิ๊คเกิ้ลส์แห่งอัมสเตอดัมสามารถขับกล่อมแจ๊สได้เพลิดเพลินจนผู้ได้ฟังลืมกำพืด

เพราะดนตรีไม่มีสัญชาติ มนุษย์ทุกคนต่างเปี่ยมล้นด้วยอารมณ์สุนทรีย์ ล้วนแต่ฝักใฝ่ในการสดับฟังท่วงทำนองเพลงที่งดงาม และดนตรียิ่งทวีคุณค่าเมื่อช่วยให้เกิดการรวมน้ำใจระดมทุนเพื่อเกื้อกูลช่วยเหลือสังคมต่อไป

########

อีก 2 วันถัดมา ผู้เขียนไปงาน ของสถานทูตอิตาลี จัดฉายหนังกลางแปลงเรื่องตามล่าหากาลิเลโอ” (Dear Galileo) ในสวนกระทัดรัดหน้าบ้านพักเอกอัคราชทูตอิตาลีประจำประเทศไทย Michelangelo Pipan วัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมงานสัปดาห์ภาษาอิตาเลียนสากล ครั้งที่ 9 – กาลิเลโอรำลึกพร้อมกับเฉลิมฉลองครบรอบ 400 ปีที่กาลิเลโอ นักดาราศาสตร์ชื่อก้องโลกชาวอิตาเลียนประดิษฐ์คิดค้นกล้องโทรทรรศน์ (Telescope) หรือกล้องดูดาวนั่นเอง

ทางอิตาลีใช้คำว่าประดิษฐ์คิดค้นหรือ “Invent” ภายใต้ชื่อ “The Invention of Telescope by Galileo  Galilei ”

ทำเอาตัวแทนฝั่งเนเธอร์แลนด์สวนขึ้นมาว่านั่นไม่เป็นความจริง กาลิเลโอไม่ได้เป็นคนประดิษฐ์คิดค้นเทเลสโคป แต่เป็นชาวดัทช์ต่างหาก!!!”

ใครถูก ใครผิด? เมื่อวิเคราะห์อย่างตรงไปตรงมาแล้วขอตัดสินให้ ต่างฝ่ายถูกคนละครึ่ง

เรื่องของเรื่องมีอยู่ว่า  ในปีค.ศ. 1608 มีช่างทำแว่นชาวดัทช์ ชื่อฮานส์ ลิปเปอร์ซี่ (Hans Lippershey) บังเอิญนำเลนส์แว่นตา 2 อันมาส่องซ้อนกันปรับระยะใกล้ไกล จนพบว่าวัตถุที่ส่องนั้นมีขนาดต่าง กัน จึงกลายเป็นผู้ค้นพบการเรียงเลนส์ขยายวัตถุ นำมาสู่การพัฒนากล้องส่องทางไกล

ถ้าอ่านข้อมูลในเว็บไซต์ http://www.scienceclarified.com/ จะได้อารมณ์ดราม่ามาประกอบด้วย เขาพรรณาว่าฮานส์ตื่นเต้นกับการส่องเลนส์จนนอนไม่หลับ ลุกขึ้นมาประกอบเลนส์ไว้ในกระบอกไม้ และเพียงระยะเวลาแค่ 3 วันเขาขยายความยาวของกระบอกถึง 2 เมตร ตั้งชื่อให้เสร็จสรรพว่าตัวส่อง” (Looker) มีกำลังขยาย 3 เท่า

ต่อมาก็มีเพื่อนร่วมชาติอีกคน  จาค็อบ เมเทียส (Jacob Metius) สามารถปรับปรุงกล้องให้มีกำลังขยายเพิ่มขึ้นประมาณ 4 เท่า แต่เกิดอาการน้อยใจรัฐบาลที่ทำท่าไม่เชื่อถือ ก็เลยไม่ยอมให้พิสูจน์กล้องของตัวเอง แม้ตายไปก็อุตส่าห์ทำลายทิ้ง

สุดท้ายแล้วฮานส์ก็ไม่ได้รับสิทธิบัตร  แต่การค้นพบของเขาได้รับการยกย่องจากรัฐบาลเนเธอร์แลนด์ว่าเป็นแว่นส่องทางไกลของดัทซ์” (Dutch perspective glass)

อย่างไรก็ตาม การนำไปใช้ประโยชน์ยังไม่สะท้านจักรวาล จนกระทั่งในปีถัดมากาลิเลโอนำมาปรับปรุงกำลังขยายได้ 20 – 30 เท่าและนำมาใช้สำรวจท้องฟ้าเป็นคนแรกของโลก ในเดือนมีนาคม .. 1610

ดังนั้น การบรรยายว่า “The Invention of Telescope by Galileo  Galilei ” ของทางอิตาลี ซึ่งมีนัยกำกับว่าโดยกาลิเลโอย่อมไม่ผิด แต่หากระบุว่ากาลิเลโอพัฒนาหรือ “develop” กล้องให้มีประสิทธิภาพ “เชิงดาราศาสตร์” ต่อยอดจนเป็นจริงเป็นจังอย่างทุกวันนี้ น่าจะถูกต้องที่สุด

ภาพที่กาลิเลโอเห็นจากฟากฟ้ามีทั้งหลุม ภูเขาบนดวงจันทร์ เห็นดวงจันทร์ บริวารของดาวพฤหัสบดี 4 ดวง และวงแหวนของดาวเสาร์ แม้แต่จุดดับบนดวงอาทิตย์ก็ไม่รอดสายตากาลิเลโอที่มองผ่านกล้องของตัวเองไปได้ และเขียนบทความสั้น ชื่อ Sidereus Nuncius (ผู้ส่งสารแห่งดวงดาว) เพื่อเผยแพร่ผลสังเกตการณ์ทางดาราศาสตร์ครั้งนี้

ผลที่ได้นำมาสู่แนวคิดโลกไม่ใช่ศูนย์กลางของจักรวาล ขัดแย้งสุดขั้วกับความเชื่อดั้งเดิมซึ่งฝังรากจากปโตเลมีและอริสโตเติลในยุคนั้น จนศาสนจักรคาทอลิกยอมรับไม่ได้ต้องนำตัวเขาไปจองจำโทษฐานเป็นปรปักษ์ศาสนาไม่ต่างไปจากพวกนอกรีต

อย่างไรก็ตาม  การค้นพบความรู้ใหม่ของกาลิเลโอ ได้รับการสนับสนุนและต่อยอดโดยพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 กษัตริย์ฝรั่งเศส

พระเจ้าหลุยส์ที่ 14 กษัตริย์ที่ครองราชย์นานที่สุดของฝรั่งเศส ทอดพระเนตรการณ์ไกลว่านี่จะเป็นเครื่องมือช่วยสำรวจโลก เอื้อประโยชน์ต่อการค้าและเป็นมหาอำนาจ จึงส่งคณะทูตที่มีทั้งอัศวิน บาทหลวง มิชชั่นนารี มายังดินแดนเอเซีย โดยมีการผนวกเรื่องการค้ากับศาสนาเข้าด้วยกัน

กล้องดูดาวปรากฏในเมืองไทยครั้งแรกในยุคสมเด็จพระนารายณ์มหาราช (พ.ศ. 2175  – 2231) ทรงสนพระทัยในวิทยาการชาวตะวันตกอย่างยิ่ง

“พระที่นั่งเย็น” (พระที่นั่งไกรสรสีหราช) หรือตำนักทะเลชุบศร จังหวัดลพบุรี เป็นสถานที่สังเกตจันทรุปราคาเต็มดวงของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช  เมื่อวันที่ 11 ธันวาคม ..2228 ร่วมกับคณะทูตฝรั่งเศสผู้พยายามเกลี้ยกล่อมให้พระองค์หันมานับถือศาสนาคริสต์ แต่ไม่สำเร็จ รวมทั้งปรากฏการณ์สุริยคราสร่วมกับนักดาราศาสตร์และบาทหลวงฝรั่งเศส เมื่อ 30 เมษายน .. 2231 ที่มีภาพเขียนของฝรั่งเป็นหลักฐานสำคัญ

ส่วนวัดสันเปาโลเป็น “หอดูดาว” ซึ่งพระองค์พระราชทานที่ดินในเมืองลพบุรีให้บาทหลวงฝรั่งเศสนิกายเจซูอิด (Jesuit)  เริ่มก่อสร้างเมื่อ ..2228 (..1685) แล้วเสร็จพ..2230 (..1687) โดยบันทึกของบาทหลวงตาชาร์ด (Guy Tachard) เล่าว่าสมเด็จพระนารายณ์โปรดเกล้าฯ ให้สร้างตามแบบหอดูดาวที่ฝรั่งเศส จึงมีรูปทรงแปดเหลี่ยม ข้อมูลบางแห่งระบุว่าหอดูดาวแห่งนี้ใช้เป็นที่สังเกตปรากฏการณ์บนท้องฟ้า แล้วส่งผลกลับไปยังหอดูดาวกรุงปารีส

ด้วยเหตุนี้ จังหวัดลพบุรีจึงจัดงานเฉลิมฉลองหอดูดาวแห่งแรกเมืองไทยสมัยพระนารายณ์ฯ ตลอดจนการครบรอบ 400 ปี ดาราศาสตร์โลก และครบ 35 ปี ชมรมอนุรักษ์โบราณวัตถุสถานและสิ่งแวดล้อมของลพบุรี ไปพร้อม ๆ กัน เมื่อ 4 เมษายน 2552 ที่ผ่านมา

ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อที่เราชาวไทยมีประวัติศาสตร์เกี่ยวข้องกับการพัฒนาความรู้ดาราศาสตร์สมัยใหม่ร่วมกับชาวโลกอย่างยิ่ง

ดูเหมือนเราจะเกี่ยวข้องตำนานของเทเลสโคปมากกว่านั้น  เมื่อมีนักประวัติศาสตร์ยืนยันบันทึกทางการทูตระบุว่า “Ambassades du Roy de Siam envoyé à l’Excellence du Prince Maurice, arrive a La Haye, le 10. septembr. 1608” สมเด็จพระเอกาทศรถ (พ.ศ. 2100  – พ.ศ. 2163) พระอนุชาของสมเด็จพระนเรศวรมหาราชได้มีการส่งทูตจากประเทศสยามไปเข้าเฝ้าเจ้าชายมอริซ วันที่ 10 เดือนกันยายน ค.ศ. 1608 โดยเดินทางไปกรุงเฮก (Hague) ของฮอลแลนด์ (เนเธอร์แลนด์) และมีเหตุการณ์ที่ฮานส์พยายามจดสิทธิบัตรกล้องส่องทางไกลของเขาปรากฏอยู่ด้วย

ว่ากันว่าบันทึกการทูตนี้ได้เผยแพร่ไปทั่วยุโรป และทำให้เกิดการทดลองประดิษฐ์กล้องส่องทางไกลโดยนักวิทยาศาสตร์ท่านอื่น ๆ รวมทั้งกาลิเอโอ ที่นำไปปรับปรุงและใช้เป็นกล้องดูดาวอย่างเป็นจริงเป็นจัง นั่นเอง

ดังนั้น ประวัติศาสตร์มักพัวพันกันดุจงูกินหาง แม้จะถูกชำระครั้งแล้วครั้งเล่า

ทว่า..เรื่องใครจะประดิษฐ์ก่อนหลัง  ไม่อาจสำคัญเท่ากับสามัคคีคือพลัง ร่วมพัฒนาสืบสานต่อมาจนเกิดคุโณปการแก่โลก เบิกปัญญาของมนุษย์ให้เข้าใจจักรวาล

(e-MoF Magazine ปีที่ 5 ฉบับที่ 54)

บลอกที่ WordPress.com .